นักวิจัยจากกลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า สังเกตเห็นนกกิ้งโครงแกลบหลังม่วงดำเป็นฝูง ใหญ่บ้างเล็กบ้างลงเกาะตามต้นไทร และเกาะพักตามยอดต้นสน ในกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ตั้งแต่วันที่ 16 ก.ย. 2551 ซึ่งต่อมาได้เฝ้าดู และประเมินจำนวนประชากรว่าน่ามีจำนวนมากถึง 300 ตัว
โดยมีนกกิ้งโครงแกลบปีกขาวปะปนอยู่ในฝูงแต่เป็นจำนวนน้อยกว่า นักวิจัยของกลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า ให้ความเห็นว่าการที่พบนกกิ้งโครงแกลบหลังม่วงดำในกรมอุทยานฯ นั้นอาจเนื่องจากเป็นช่วงที่มีฝนตกหนักซึ่งเป็นอุปสรรค ต่อการบินอพยพ เพื่อลงไปทางใต้ของประเทศไทย และเป็นเวลาเดียวกับที่ต้นไทรในกรมอุทยานฯ สุกพร้อมกันเป็นจำนวนมาก อาจเป็นสิ่ง ที่ดึงดูดให้นกกิ้งโครงแกลบหลังม่วงดำแวะพักที่กรมอุทยานฯ
ชื่อไทย นกกิ้งโครงแกลบหลังม่วงดำ
ชื่อสามัญ Purple-backed Starling , Durian Starling , Durian Stearlet
ชื่อวิทยาศาสตร์ Sturnus sturninus (Pallas) 1776.
นกกิ้งโครงแกลบหลังม่วงดำมีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันออก เทือกเขาหิมาลัยเกาะอันดามัน เกาะนิโคบาร์ จีน ไหหลำ และหมู่เกาะซุนดาใหญ่ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พบทั่วไป
ลักษณะทั่วไป เป็นนกที่มีขนาดเล็ก (17-19 ซม.) มีสีเทา หางสั้นสีดำ ปลายหางเว้าตื้นมีแถบปีกสีขาวและน้ำตาลเหลือง บริเวณปีกด้านบนลำตัวบริเวณกระหม่อม ด้านข้างของหัว และคอสีเทา บริเวณหัวตา และวงรอบเบ้าตาสีขาว หลัง ตะโพก ขนคลุมขนปีก และลายพาดที่ท้ายทอยสีม่วงแกมดำ มีลายพาดสีเหลืองพาดผ่านตะโพก ด้านล่างลำตัวสีเทาอ่อน บริเวณคางจะมีลายแต้มสีน้ำตาลแดง ตัวผู้และตัวเมียลักษณะและสีสันเหมือนกัน
อุปนิสัยและอาหาร เป็นนกที่พบตามชายป่า ป่ารุ่น และแหล่งกสิกรรมต่างๆในระดับต่ำมักพบเป็นฝูงอุปนิสัยและ พฤติกรรมต่างๆไม่แตกต่างจากนกกิ้งโครงแกลบหัวเทา
การกระจายและการผสมพันธุ์ ผสมพันธุ์ในแถบตะวันออกเฉียงเหนือและตอนเหนือของประเทศจีน ในฤดูหนาวพบได้ตั้งแต่ตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศจีนจนถึงทางใต้ และตะวันตกเฉียงใต้รวมถึงไหหนาน (Hainan) ไม่มีรายงานการทำรังวางไข่ของนกกิ้งโครงแกลบหลังม่วงดำในประเทศไทย
สถานภาพ นกกิ้งโครงแกลบหลังม่วงดำ เป็นนกอพยพผ่าน และนกอพยพมายังประเทศไทยช่วงนอกฤดูผสมพันธุ์ หรือในฤดูหนาว พบไม่บ่อยและปริมาณไม่มากนัก พบในภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้