|
สัตว์ป่าน่ารู้ นกปรอดเหลืองหัวจุก
(18 พฤษภาคม 2554)
|
|
สัตว์ป่าน่ารู้ นกปรอดเหลืองหัวจุก
|
|
|
ลักษณะทั่วไป
เป็นนกที่มีขนาดเล็ก (19 เซนติเมตร) มีหงอนขนยาวสีดำบริเวณหัว หัวและคอสีดำ (บางชนิดย่อยเช่น johnsoni คอหอยเป็นสีแดง) ด้านบนลำตัวสีน้ำตาลแกมเขียว ด้านล่างลำตัวสีเหลือง ตาสีเหลืองอ่อน หรือสีครีม ตัวไม่เต็มวัยจะเป็นสีเทา
อุปนิสัยและอาหาร
เป็นนกที่พบตามป่าต่างๆหลายสภาพเช่น ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าดงดิบชื้น ป่าดงดิบแล้ง ป่าดงดิบเขา และป่ารุ่น |
ตั้งแต่พื้นราบจนกระทั่งยอดเขาสูงสุด หรือความสูง 2,590 เมตร จากระดับน้ำทะเล พบเป็นคู่ หรือฝูงเล็กๆ หากินตามพุ่มไม้ และยอดไม้ต่างๆ ทั้งในระดับสูง และระดับปานกลาง เป็นนกที่มักจะส่งเสียงร้องอยู่ตลอดเวลา
โดยร้องเป็นเสียง "วิด-วีด-ติ-วีด" อาหารได้แก่ผลไม้ โดยเฉพาะ ไทร หว้า ตะขบ ตาเสือเล็ก อบเชย และไม้เถาบางชนิด นกจะใช้ปากเด็ดผลไม้ออกจากขั้วแล้วกลืนกินทั้งผล นอกจากนี้ก็ยังกินกลีบดอกไม้ น้ำหวานดอกไม้ โดยเฉพาะดอกทองหลางป่า และกินตัวหนอนและแมลงต่างๆอีกด้วย โดยการจิกกินตามกิ่งก้านและยอดไม้ บางครั้งก็โฉบจับแมลงกลางอากาศ แต่ในระยะที่ไม่ไกลจากที่เกาะมากนัก
การผสมพันธุ์
นกปรอดเหลืองหัวจุก ผสมพันธุ์ในช่วงฤดูร้อนต่อฤดูฝน หรือระหว่างเดือนเมษายน-พฤษภาคม ทำรังเป็นรูปถ้วย ประกอบด้วยกิ่งไม้เล็กๆ ต้นหญ้า ใบไม้ และใบหญ้า ตรงกลางแอ่งมักรองด้วยใบไม้ และใบหญ้าอีกชั้นหนึ่งเพื่อรองรับไข่ วางรังตามง่ามของต้นไม้ ไม้พุ่ม ซึ่งสูงจากพื้นดินประมาณ 1-3 เมตร หรือมากกว่า ในแต่ละรังมีไข่ 2-4 ฟอง ไข่สีชมพู มีลายดอกดวงสีน้ำตาลแดงบริเวณไข่ด้านป้าน ขนาดของไข่โดยเฉลี่ย 15.7 x 20.9 มิลลิเมตร ทั้ง 2 เพศช่วยกันทำรัง ฟักไข่ และเลี้ยงดูลูกอ่อน ซึ่งเมื่อออกจากไข่มาใหม่ๆ ยังไม่มีขนคลุมร่างกาย และยังช่วยเหลือตนเองไม่ได้
สถานภาพ
กฎหมายจัดนกปรอดเหลืองหัวจุกเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง
ที่มา
หนังสือชุด นกในเมืองไทย เล่ม 5 โดย รศ.โอภาส ขอบเขตต์
|